วัดที่คุณต้องไปเยือนเมื่อไปนครศรีธรรมราช


วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนิน ตำบลในเมืองมีเนื้อที่ ๒๕ ไร่ ๒ งาน วัดพระมหาธาตุเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชั้นวรมหาวิหาร เดิมชื่อ วัดพระบรมธาตุ ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ประกาศจดทะเบียนวัดพระมหาธาตุเป็นโบราณสถาน นับเป็นปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้
ตามตำนานกล่าว ว่า สร้างเมื่อปี พ.ศ.๘๕๔ สร้างมามากกว่า ๑๕๐๐ ปี มีศิลปะการก่อสร้างแบบศรีวิชัย โดยเจ้าชายธนกุมารและพระนางเหมชาลาและบาคู (นักบวช) ชาวลังกา เป็นผู้นำเสด็จพระบรมธาตุมาประดิษฐาน ณ หาดทรายแก้วและสร้างเจดีย์องค์เล็ก ๆ เพื่อเป็นที่หมายไว้
ต่อมาปี พ.ศ. ๑๐๙๓ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช (พระเจ้าจันทรภาณุ) ได้ทำการสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น พร้อมการก่อสร้างเจดีย์ขึ้นใหม่เป็นทรงศาญจิ และในปี พ.ศ. ๑๗๗๐ พระองค์จึงได้รับเอาพระภิกษุจากลังกามาตั้งคณะสงฆ์และบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ ให้เป็นไปตามแบบสถาปัตยกรรมทรงลังกา อันเป็นแบบที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันคือ เป็นทรงระฆังคว่ำ หรือโอคว่ำ มีปล้องไฉน ๕๒ ปล้อง รอบพระมหาธาตุมีเจดีย์ ๑๕๘ องค์ สูงจากฐานถึงยอด ๓๗ วา ๒ ศอก ยอดสุดของปล้องไฉนหุ้มทองคำเหลืองอร่าม สูง ๖ วา ๑ ศอก แผ่เป็นแผ่นหนาเท่าใบลานหุ้มไว้ น้ำหนัก ๘๐๐ ชั่ง (หรือ ๙๖๐ กิโลกรัม)
ภาย ในวัดพระมหาธาตุฯ วิหารที่มีความสำคัญหลายองค์ประดิษฐานอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระวิหารหลวงซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา วิหารสามจอมมีพระพุทธรูป "พระจ้าศรีธรรมโศกราช" ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ วิหารพระมหาภิเนษกรม (พระทรงม้า) ทางขึ้นไปบนลานประทักษิณ วิหารทับเกษตร วิหารเขียน และวิหารโพธิ์ลังกาซึ่งเป็นที่จัดและแสดงโบราณ


วัดหรงบน เป็นวัดที่เก่าแก่มากวัดหนึ่ง สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตรวจค้นจากประวัติทะเบียนวัดแล้วปรากฏว่า วัดหรงบนสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๔ เพราะจากหลักฐานในอดีตตามที่คนแก่เล่าให้ฟังว่า ในอดีตจะมีเสาหงษ์อยู่ต้นหนึ่ง เป็นเสาเก่าแก่ มีมาแต่โบราณ และมิใช่มีแค่วัดหรงบนเท่านั้นแม้วัดกลาง (วัดคงคาวดี) และวัดล่าง (วัดหงษ์แก้ว) ก็ล้วนมีเสาหงษ์ทั้งสิ้น และถ้าเป็นเช่นนั้นจริงวัดทั้งสามวัดนี้คงสร้างในยุคเดียวกัน คือในยุคที่พม่ามีอิทธิพลในนครศรีธรรมราช เพราะการสร้าง เสาหงษ์ไว้ใน วัดนี้เป็นประเพณีของพวกมอญรามัญเท่านั้น

หลวงปู่เขียว  นอกจากนี้วัดหรงบนยังเคยมีเจ้าอาวาสที่เป็นที่เคารพนับถือของชาวนครศรีธรรมราชอีกด้วยท่านคือหลวงปู่เขียวซึ่งท่านได้มรณภาพไปนานแล้วประวัติของท่านมีดังนี้
หลวงปู่เขียว ถือกำเนิดขึ้นในตะกูลชาวนา เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้นแรมไม่ปรากฏ เดือนยี่ ปีมะเมีย พ.ศ.2424 บิดาชื่อนาย ปลอด มารดาชื่อแป้น มีพี่น้อง 4คน ชาย2หญิง2 พ่อท่านเขียวเป็นพี่ชายคนโต น้องชายชื่อนายพลับ น้องสาวชื่อนางเอียด และนางปาน น้องชายและน้องสาวเสียชีวิตก่อนท่าน
การศึกษา
     เมื่อยังเยาว์วัย พ่อท่านเขียวอาศัยพระในบ้านช่วยสอนหนังสือให้อ่านเขียนได้ตามอักขระสมัย ท่านชอบศึกษาเล่าเรียนเป็นชีวิตจิตใจ
อุปสมบท
     "หลวงปู่เขียว"ท่านตัดสินใจสละเพศฆราวาส เข้าสู่วัดเมื่ออายุได้ 22ปี อุปสมบท ณ วัดคงคาวดี (วัดกลาง) ปีเถาะ พ.ศ.2446 พระครูสมัยนั้น เป็นพระอุปัชฌายะ พระครูบริหารสังฆกิจ (เต็ง) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระเกื้อเป็นพระกรรมวาจา ได้รับฉายาว่า "อินทมุนี"ได้ปรนนิบัติรับใช้ รับฟังโอวาทจากพระอุปัชฌายะชั่วระยะเวลาหนึ่ง หลังจากนั้น พ่อท่านเขียว ก็กราบลาพระอุปัชฌายะ ไปศึกษาเล่าเรียนต่อกับพระอาจารย์เอียด วัดบน พระอาจารย์เอียดเก่งทั้งทางโลก และทางธรรม อบรมนิสัยให้เหมาะแก่สมณเพศ จนท่านตั้งใจว่า ขอถือบวชอยู่ในพุทธศาสนาตลอดไป หาทางพ้นทุกข์ตัดอาสวะกิเลสให้สิ้น พ่อท่านเขียวท่านตัดสินใจเดินธุดงค์เป็นวัตร คือ ถือผ้านุ่งห่มบังสกุล 3ชิ้น มีผ้าสบง อังสะ จีวร บิณฑบาตร และฉันอาหารมื้อเดียว(เอกา)เป็นวัตร จึงกราบลาอาจารย์เดินธุดงค์สู่ป่าเขาลำเนาไพร หลวงปู่เขียวเดินธุดงค์ติดต่อกันหลายปี ผ่านจังหวัดกระบี่ ตรังสุราษฎร์ธานี ชุมพร สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ภูเก็ต พังงา และจังหวัดอื่นๆอีกหลายแห่ง
วัตถุมงคล
     ใน ปี พ.ศ.2467 หลวงปู่เขียวอายุได้ 53 ปีพอดี ท่านพระครูพิบูลย์ศีลาจารย์(เกลื่อม)เจ้าคณะ ต.บางตะพง อ.ปากพนัง ปกครองวัดกลาง(คงคาวดี)ศรัทธาต่อหลวงปู่เขียว ซึ่งเป็นอาจารย์ของท่านเอง ต้องการได้ของดีของอาจารย์เป็นที่ระลึก จึงหาผ้าขาวมา หาขมิ้นผงมาผสมน้ำทาใต้เท้า ใต้มือท่านแล้ว นิมนต์ท่านอฐิษญานจิตกดเป็นผ้ายันต์แต่ไม่ค่อยชัดนัก ต่อมามีผู้ต้องการมากขึ้น จึงคิดหาหมึกจีนเป็นแท่งมาฝนกับฝาละมีทาเท้าบ้าง ทามือบ้าง ให้พ่อท่านอธิษฐานจิตกดลงบนผ้าขาวเป็นผ้ายันต์ ปรากฏว่าชัดเจนสวยงามดี นับว่าผ้ายันต์รอยมือรอยเท้าพ่อท่านเขียวปรากฏแพร่หลายขึ้นเป็นครั้งแรกใน ภาคใต้ เมื่อมีผู้ศรัทธามาขึ้นจึงแพร่หลายบอกต่อกันไป มีประชาชนมาขอลูกอมท่านบ้าง พ่อท่านเขียวท่านเคี้ยวชานหมากเสร็จคลึงเป็นลูกอมแล้วมอบให้ บางคนท่านก็เอากระดาษฟางมาลงอักขระเป็นตัวหนังสือขอม หัวใจพระเจ้า 5พระองค์ นะโมพุทธายะ เสร็จแล้วเอาเทียนสีผึ้งห่อหุ้มปั้นเป็นลูกอม หลวงปู่เขียวเป็นพระใจดี พูดน้อยใครขออะไรท่านก็จะทำให้ตามความต้องการแต่ละคน
     วัตถุมงคลที่หลวงปู่เขียว ท่านสร้างมีหลายอย่าง เช่น ผ้ายันต์รอยมือรอยเท้า เชือกคาด ลูกอมเทียน ชานหมาก พระปิดตา เหรียญ และรูปหล่อลอยองค์ พระเครื่องหลวงปู่เขียว เป็นที่ต้องการกันมาก
พุทธคุณวัตถุมงคล
     วัตถุ มงคล และพระเครื่องของพ่อท่านเขียว ล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์ด้านปกป้องคุ้มครองสูงมาก เช่นผ้ายันต์รอยมือรอยเท้าผู้ที่โดนโจรปล้นวัวเกิดต่อสู้กัน เจ้าของวัวพกผ้ายันต์ท่าน กระสุนก็ไม่อาจทำอะไรคนที่พกผ้ายันต์ท่านได้ ซึ่งพุทธคุณพระเครื่องที่ท่านปลุกเสกนั้น โด่งดังไปไกลทั่วประเทศเป็นที่เล่าขานสืบต่อมาทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าด้านคงกระพัน มหาอุด หรือเมตตามหานิยม แคล้วคลาด ถือว่า หลวงปู่เขียว วัดหรงบล เป็นสุดยอดเกจิอันดับต้นๆของภาคใต้


วัดเขาปรีดี               
   ในอดีต มีภูเขาอยู่ลูกหนึ่ง ตั้งอยู่หน้าสถานีรถไฟชุมทางทุ่งสง ชาวบ้านในระแวกนั้นเรียกภูเขาลูกนั้นว่า เขาดีปลี ได้ฟังต่อ ๆ กันมาว่า ถ้าหากผู้ใดขึ้นไปบนภูเขาลูกนี้แล้ว บางคนจะพบเห็นต้นและดอกดีปลีขนาดใหญ่ผิดปกติมากและถ้าใครเก็บดอกดีปลีเพื่อ จะนำกลับไปบ้าน ก็จะเกิดอาถรรพ์ เดินหลงทางกลับลงจากภูเขาไม่ได้ ต้องเดินวกไปวนมาอยู่บนภูเขานั้น แต่เมื่อนำดอกดีปลีนั้นตั้งไว้ที่ต้นแล้ว ก็จะพบทางลงจากภูเขากลับลงได้ ชาวบ้านจึงเรียกภูเขาลูกนี้ว่า เขาดีปลี คำ ว่า “ ดีปลี ” หมายถึง พืชชนิดหนึ่งซึ่งชาวบ้านปักษ์ใต้เรียกว่า ดีปลี มีรสเผ็ดร้อน อยู่ในสกุลเดียวกันกับพริกนั้นเอง มีประโยชน์สำหรับใช้ประกอบเป็นเครื่องปรุงอาหาร เช่น แกงเผ็ด หรือตำน้ำพริก ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ เจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ตรวจการคณะสงฆ์ อ.ทุ่งสง ในครั้งนั้น ท่านพระอุดมศีลาจารย์ (ช่วย) วัดโคกหม้อ หรือวัดชัยชุมพล เป็นเจ้าคณะอำเภอทุ่งสง ได้นิมนต์เจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช ตรวจดูสถานที่เชิงเขาดีปลีแห่งนี้ เห็นว่าเป็นสถานที่สมควรจัดให้เป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ จึงได้ชวนชาวบ้านที่อยู่ใกล้เขาดีปลีมาประชุมกัน ที่ประชุมตกลงให้สร้างวัดขึ้น ณ ที่นี้ และให้เรียกภูเขาลูกนี้ว่า ภูเขาปรีดี ที่ตั้งวัดก็ให้เรียกว่า วัดเขาปรีดี ชาวบ้านต่างก็มีความสบายใจที่ได้สร้างวัดขึ้น และมีความพอใจกับชื่อของวัดและภูเขาปรีดีดังกล่าว เจ้าคณะอำเภอทุ่งสงในสมัยนั้นได้มอบหมายให้พระครูอินโทปมคุณ เจ้าอาวาสวัดเขากลาย ได้ช่วยพัฒนาวัดเขาปรีดี แห่งนี้โดยส่งพระสงฆ์มาอยู่เป็นผู้นำ ตามทราบชื่อพระสงฆ์นั้น ดังนี้
 ๑. พระจัน

 ๒. พระหนู
 ๓. พระคล้าย
 ๔. พระทอง
 ๕. พระดำ

อยู่ ต่อมาสมัยพระครูอุดมศีลาจารย์ (เย็น) วัดโคกสะท้อน เป็นเจ้าคณะอำเภอทุ่งสง ท่านได้ส่งพระมหาบุญมี (พระครูจันทวุฒิคุณ) พระประภาส พระเทียบ เป็นเจ้าอาวาส รูปต่อมา  แต่สภาพของวัดก็ยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ ควร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ พระเทียบได้ลาจากเจ้าอาวาส กลับไปอยู่ที่อำเภอฉวาง ซึ่งเป็นวัดเดิมของท่าน จึงเป็นเหตุให้วัดเขาปรีดีว่างจากเจ้าอาวาส สภาพวัดก็ขาดการพัฒนา กลายเป็นที่กลบอยู่ของพวกมิจฉาชีพ คณะรถไฟทุ่งสง คณะเทศบาลตำบลปากแพรก และคณะผู้มีจิตศรัทธาหลายท่าน ไปอาราธนาพระสงฆ์จากวัดชายนา ซึ่งเป็นสำนักกัมมัฏฐาน อยู่ที่ อ.เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งมีพระครูภาวนานุศาสก์ (หลวงพ่อแป้น ธมฺมธโร) เป็นพระอาจารย์ใหญ่) ฝ่ายกัมมัฏฐาน ท่านได้ส่งพระสงฆ์ จำนวน ๗ รูป สามเณร ๑ รูป ให้มาอยู่ที่วัดเขาปรีดี เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๒๒ นำโดย พระครูจารุวรรณโสภิต สมัยนั้นยังมีชื่อเดิมอยู่ว่า พระชะอ้อน จารุวณฺโณ เมื่อท่านมาอยู่ก็ได้เริ่มพัฒนา โดยถือหลักว่า พัฒนาคน พัฒนาตน พัฒนาวัด และได้กระทำอย่างนี้มาโดยตลอด ด้านการพัฒนาคน ได้เริ่มโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๘ ถึงปัจจุบัน



วัดพรหมโลก เดิมชื่อว่าวัดหัวทุ่ง อยู่ในพื้นที่ ๔๔ ไร่ ๒ วา วัดสร้างเมื่อปีพ.ศ. ๒๓๒๕ ภายในวัดมีรูปภาพฝาฝนังตั้งแต่เริ่มสร้างวัด มีรูปปูนปั้นหลวงปู่พรหมโลกศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่ผู้คนเคารพนับถือ ภายในวัดมีการให้พยาบาลผู้ถูกงูพิษกัด โดยการใช้ยาสมุนไพร
วัดพรหม โลก ก็เป็นเฉกเช่นวัดอื่น ๆ ที่ทำหน้าที่เผยแพร่ธรรมะและชี้ทางสว่างให้กับผู้ที่ต้องการที่พึ่งทางใจ เสียงสวดมนต์ไม่เคยจางหายทั้งเช้าและเย็น ท่ามกลางวิถีแห่งวัดที่ดำเนินไปตามปกติกลับมีชายชราผู้หนึ่งที่ไม่อาจขึ้นทำ วัตรสวดมนต์ดูคล้ายชายบาปในรั้วบุญอยู่ในวัดแต่ไม่ไปวัด ถ้ามีคนไข้มาจะได้เจอ คือคำตอบที่ลุงสมนึก จันทรประสูตร หมอรักษาพิษงูแห่งวัดพรหมโลกวัยเกือบ ๘๐ ตอบคำถามผู้คนที่สงสัยว่าทำไมไม่ขึ้นไปทำบุญบนศาลาบ้าง แม้จะไม่มีปริญญาแพทย์ศาสตร์บัณฑิต ไม่มีแม้ใบประกาศหลักสูตรวิชาชีพใด ๆ แต่สิ่งที่ลุงสมนึกทำมาตลอด ๒๐ ปี ตั้งแต่การศึกษาค้นคว้าตำรับตำรายาสมุนไพร   การรักษาผู้ที่ถูกงูกัด แบบไม่มีวันหยุด หมายเลขโทรศัพท์มือถือที่เขียนติดไว้หน้าคลินิก สำหรับโทรตามกรณีที่มาแล้วไม่เจอ คงยากจะปฏิเสธได้ว่านี่ไม่ใช่คุณสมบัติของผู้ที่มีหัวใจช่วยเหลือผู้อื่น อย่างแท้จริง ลุงสมนึก เรียนรู้วิธีการรักษาผู้ถูกงูกัดมาจากพี่ชาย คือพระครูวุฒิธรรมศรอดีตเจ้าอาวาสวัดพรหมโลก เมื่อปี ๒๕๓๐ ทั้งช่วยเก็บสมุนไพร ปรุงยา สังเกตอาการ และรักษาผู้ที่ถูกงูกัด จนเกิดความชำนาญจนกระทั่งพี่ชายมรณภาพ จึงรับหน้าที่หมอรักษาพิษงูเต็มตัว 
ด้วย สภาพอากาศร้อนชื้นฝนตกชุกประกอบกับชาวบ้านส่วนใหญ่ในอำเภอพรหมคีรีมีอาชีพทำ สวนผลไม้และสวนยางพารา ศัตรูตัวร้ายของชาวบ้านจึงเป็นเหล่าอสรพิษนานาชนิด ทั้งงูเห่า งูจงอาง รวมทั้งงูกะปะซึ่งถือเป็นไม้เบื่อไม้เมากับคนใต้เพราเป็นงูที่มีมากในแถบนี้ พิษของงูกะปะ ถ้าไม่โดนเข้าไปมากอาจไม่ถึงตายแต่ความร้ายแรงอยู่ที่แผลที่งูกัด เพราะแผลจะลุกลามเน่าเปื่อยจนบางรายแพทย์ต้องตัดขากลายเป็นคนพิการไม่สามารถ กรีดยางได้เหมือนเดิม ลุงสมนึกเชี่ยวชาญด้านการรักษาแผลที่เน่าเปื่อยจากพิษของงูกะปะ คนไข้หลายรายไม่ต้องกลายเป็นคนพิการเพราะภูมิปัญญาการใช้สมุนไพรของลุง ถึงจะใช้สมุนไพรในการรักษาแต่ลุงสมนึกก็ไม่เคยต่อต้านการฉีดเซรุ่ม เพราะหมองูแห่งบ้านพรหมโลกเชื่อว่าวิธีรักษาไม่สำคัญเท่าการได้ช่วยชีวิตคน วิธีไหนก็ได้ขอให้คนไข้รอดตายก็พอ
ดังนั้นคนไข้หลายรายญาติจะนำไป ฉีดเซรุ่มที่โรงพยาบาลแล้วจึงนำมาหาหมอรักษาพิษงูในภายหลัง แต่ก็มีผู้ถูกงูกัดอีกไม่น้อยที่เลือกมารับการพอกยาถอนพิษทันทีโดยไม่ไปโรง พยาบาล ไม่ว่างูที่กัดจะพิษร้ายแรงเพียงใด ฟังดูคล้ายหนทางราบรื่นการรักษาราบเรียบ แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ลุงสมนึกต้องต่อสู้กับวิถีแห่งโลกสมัยใหม่ที่วัดความ รู้-และไม่รู้กันที่กระดาษแผ่นเดียว ต่อข้อกล่าวหาไม่มีใบประกอบโรคศิลป์นำไปสู่การเป็นหมอเถื่อนในสายตาเจ้า หน้าที่ แต่ทว่าวันนี้ทุกอย่างได้รับการพิสูจน์แล้ว ร่วมติดตามชีวิตและวิถีแห่งภูมิปัญญาไทยผ่านหมอรักษาพิษงู สมนึก จันทรประสูตร ผู้ยื้อแย่งชีวิตผู้คนมาจากเงื้อมมือของพญามัจจุราช ได้ในรายการคนค้นคน วันอังคารที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๐ เวลา ๒๒.๐๐น. ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี



วัดพระธาตุน้อย ปี พ.ศ. 2505 นายกลับ งามพร้อม อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 ตำบลช้างกลาง อำเภอฉวางได้ยกที่ดินโคกไม้เเดงซึ่งมีเนื้อที่ สี่สิบไร่ ถวายหลวงพ่อคล้าย(พระครูพิศิษฐ์อรรถการ)โดยมอบให้เป็นธรณีสงฆ์ ที่ดินแห่งนี้อยู่ใกล้สถานีรถไฟจันดี ประมาณหนึ่งกิโลเมตร หลวงพ่อคล้าย ได้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้นในที่ดินแปลงนี้ เริ่มก่อสร้างเมื่อ 14 มกราคม 2505 เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่นายประคอง ช่วยเพชร นำมาจากกว๊านพะเยา โดยยึดรูปแบบมาจากสถาปัตยกรรมวัดพระมหาธาตุทั้งหมด ทุนรองจากการก่อสร้างได้มาจาก พ่อค้า คหบดี ข้าราชการ และประชาชน ฝ่ายสงฆ์มีพระใบฎีกาครื้น โสภโณ เจ้าอาวาสวัดจันดีในสมัยนั้นเป็นผู้อำนวยการสร้าง ฝ่ายฆราวาสมี พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์  ราชเดช เป็นประธาน พระเจดีย์องค์นี้มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 27 เมตร สูง 70 เมตร ก่อสร้างสำเร็จในปี พ.ศ. 2513 องค์พระเจดีย์มองเห็นเด่นแต่ไกล  ถ้านั้งรถไฟสู่กรุงเทพมหานคร  ก่อนขบวนรถจะถึงสถานีคลองจันดีจะมองเห็นพระเจดีย์อยู่ทางด้านซ้ายมือ




หลวงพ่อคล้าย เป็นพระเกจิตาจารย์ที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากทั้งในภาคใต้และในเมืองนครศรีธรรมราชเอง เเม้ว่าท่านจะมรณภาพไปนานแล้วแต่ความศรัทธาของชาวนครศรีธรรมราชที่มีต่อท่านก็ยังไม่เสื่อมคลาย  ในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่เหล่าผู้ศรัทธาท่านและลูกศิษย์ญาติโยมต่างก็เรียกท่านว่า พ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ เนื่องมาจากว่าท่านเป็นคนที่พูดอะไรแล้วมักเป็นจริงเสมอไม่ว่าทางดีหรือทางร้าย  และนอกจากนี้เครื่องรางของขลังที่เกี่ยวกับท่านยังเป็นที่นิยมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอีกด้วย เช่น ชานหมากของหลวงพ่อคล้ายเอง  พระเครื่อง  รูปภาพเหมือน เป็นต้น

No Response to “วัดที่คุณต้องไปเยือนเมื่อไปนครศรีธรรมราช”

Leave a Reply